วิศวกร ผู้ที่ประกอบอาชีพทางด้านวิศวกรรม มีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ คำนวณ ออกแบบ ตรวจสอบแก้ไขปัญหา และควบคุมการผลิต อาทิ การก่อสร้างสิ่งก่อสร้าง การออกแบบ และผลิตรถยนต์ การควบคุมเครื่องจักรกลโรงงานต่าง ๆ โดยวิศวกรยังแบ่งออกได้เป็นหลายสาขา เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมโทร คมนาคม วิศวกรรมเกษตร วิศวกรรมอากาศยาน วิศวกรรมโลหการ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเซรามิก วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมธรณี ฯลฯ
กฎหมายไทย (กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 และ 4 (พ.ศ. 2508) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505) กำหนดให้วิศวกรในบางสาขาจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม หรือที่รู้จักกันว่า ‘ใบ กว.’ เพื่อการประกอบอาชีพด้วย ได้แก่ สาขาโยธา เครื่องกล ไฟฟ้ากำลัง ไฟฟ้าสื่อสาร อุตสาหการ เหมืองแร่ สิ่งแวดล้อม และเคมี ใบประกอบวิชาวิศวกรรมแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. ภาคีวิศวกร 2. สามัญวิศวกร 3. วุฒิวิศวกร มีสถาบันการศึกษาหลายสถาบันได้ทำการเปิดสอนในหลักสูตร ‘วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต’ ทำให้โอกาสทางการศึกษาทางด้านวิศวกรรมมีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาเหล่านั้นก็จะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของการศึกษาด้วยความเอาใจใส่เพื่อคุณภาพของ ‘บัณฑิตวิศวกรรม’
การเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์จะใช้เวลาเรียน 4 ปี โดยในชั้นปีที่ 1 จะเป็นการเรียนปรับพื้นฐานในสายวิชาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์เพิ่มเติม เพื่อจะนำไปใช้ในการคำนวณด้านวิศวกรรมศาสตร์ในชั้นปีต่อ ๆ ไป และที่สำคัญจะได้เรียนวิชาพื้นฐานทางวิศว กรรม คือวิชา Drawing หรือวิชาเขียนแบบ ซึ่งถือว่าเป็นวิชาเริ่มต้นของการเป็นวิศวกรในทุกสาขา และวิชาการช่างที่นักศึกษาปีที่ 1 ทุกคนต้องได้ลงมือเลื่อย ตะไบ กลึง เจาะ เพื่อเรียนรู้วิชาการช่างกันจริง ๆ เมื่อเรียนวิชาพื้นฐานจนครบแล้ว ในชั้นปีที่ 2 และ 3 จะเป็นการเรียนลึกลงไปในวิศวกรรมสาขาต่าง ๆ มากขึ้น เช่น วิศวกรรมโยธา จะต้องเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการก่อสร้างทั้งหมด วิศวกรรมอุตสาหการ จะเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น แต่การเรียนวิศวกรรมศาสตร์นั้นจะต้องเน้นการเรียนในภาคปฏิบัติให้เข้มข้น เพื่อให้ว่าที่วิศวกรทั้งหลายได้เข้าใจในทุกกระบวนการในการทำงานจริง และก่อนที่นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จะขึ้นเรียนในชั้นปีสุดท้ายนั้น นักศึกษาทุกคนจะได้ฝึกงานตามสาขาที่ได้เรียนมาในสถานที่ทำงานจริง ซึ่งถือว่าเป็นการฝึกใช้ชีวิตการทำงาน การรับผิดชอบ และต้องตื่นเช้าเข้าทำงานร่วมกับพนักงานคนอื่น ๆ และในการเรียนชั้นปี 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ถือว่าเป็นการเรียนที่นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ทุกคนจะต้องนำความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด 3 ปี มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำมาพัฒนาเป็นโครงงานที่ทำให้ใช้งานและเกิดประโยชน์ได้จริง จึงจะถือว่าการเรียนวิศวกรรมศาสตร์นั้นประสบความสำเร็จ แต่ในชีวิตจริงแล้วการเป็นวิศวกรนั้นจะต้องพบเจอกับปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง และสิ่งสำคัญในการเป็นวิศวกรนอกจากมีความรู้ความสามารถแล้วจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
คุณสมบัติข้อแรกที่วิศวกรที่ดีควรมีคือ ความสามารถในการสื่อสาร (Communication skill) เนื่องจากวิศวกรต้องทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น มักจะมีทั้งผู้ร่วมงาน เจ้านาย และลูกน้อง หากวิศวกรคนใดไม่สามารถพูดหรือเขียนให้คนอื่นเข้าใจได้ หรือนำเสนองาน หรือไอเดียให้คนอื่นเข้าใจและเห็นด้วยตามเหตุผลแล้ว ความรู้ที่วิศวกรคนนั้นมีก็อาจจะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากนัก
คุณสมบัติอีกข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องและใกล้เคียงกับข้อแรกคือ ทักษะภาษาอังกฤษ (English skill) เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทระดับนานาชาติได้เข้ามาลงทุนและตั้งในประเทศไทย หรือคนไทยก็สามารถร่วมงานกับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เป็นต้น เพราะฉะนั้นวิศวกรคนไหนที่มีความสามารถและทักษะภาษาอังกฤษก็สามารถที่จะทำงานในบริษัทระดับนานาชาติได้ดี อีกทั้งสามารถแสวงหาความรู้มากมายในภาษาอังกฤษ
คุณสมบัติข้อต่อไปที่สำคัญมากคือ ความสามารถในการทำงานเป็นทีม (Team Working skill) โปรเจกต์ส่วนใหญ่ที่วิศวกรต้องดำเนินงานจนแล้วเสร็จนั้นต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ซึ่งวิศวกรที่ดีควรจะเป็นได้ทั้งผู้นำที่ดีและผู้ตามที่ดีได้ สามารถจะทำงานร่วมกับผู้อื่นจนงานสำเร็จ และมีความสุขในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
คุณสมบัติอีกข้อหนึ่งที่สำคัญที่ต้องมีคือ ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-learning skill) วิศวกรที่ดีจะต้องมีความสามารถในการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้วยตนเอง ไม่ควรจะรอให้ผู้อื่นมาให้การอบรมหรือสอนให้อย่างเดียว เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุด หากวิศวกรคนใดรอคนอื่นสอนก็จะไม่สามารถนำเทคโน โลยีนั้นมาประยุกต์ใช้งานได้ทันการณ์
คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าข้ออื่นคือ ความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem Solving skill) เป็นธรรมดาเมื่อเราทำงานย่อมมีปัญหา แต่ว่าวิศวกรที่ดีต้องสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หรือร่วมมือกับผู้อื่นที่มีความสามารถจนร่วมกันแก้ปัญหาได้ ซึ่งความสามารถในการแก้ปัญหาต้องอาศัยความรู้ การคิดวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา การตั้งสมมติฐานที่ดีที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น